“ปรัชญาแห่งความพอเพียง”

“ปรัชญาแห่งความพอเพียง”

เสียงเปียโนเพลงพระราชนิพนธ์ “แสงเทียน” โดย ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร ที่แว่วมาจาก “หอปรัชญา” ขนาดเล็กของตลาดชุมชนฟาร์มกวางทุก ๆ เช้า มันแว่วดังในความคิดทุก ๆ ครั้งที่รู้สึกเหนื่อยล้ากับเรื่องราว เหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นในชีวิต…. โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งความวิกฤตนี้

ท่วงทำนองของดนตรี ทั้งปลอบโยน และให้กำลังใจในเวลาเดียวกัน ซุ้มขายของที่ทำด้วยไม้ไผ่ หญ้าแฝก เสียงร้องของกวาง นก แมลง แผ่นป้ายปรัชญาต่างๆ ภายใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ร่มรื่น กลับสร้างบรรยากาศแห่งความสงบในจิตใจ….

ความทุกข์ยากลำบากของชาวบ้าน ความหวังในการเจริญเติบโตของเด็ก ๆ ในสังคมและชุมชน นั้นยังมีอีกมากมาย ที่ท้าทายรอสติปัญญา ความสามารถของเหล่าครูบาอาจารย์และบุคลากรในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ออกไปท้าชน ต่อสู้ บรรเทา และแบ่งเบา

เสียงพูดคุย หัวเราะ หยอกล้อเล่นกันของเด็ก ๆ ถึงแม้จะทำลายความเงียบสงบของสถานที่ไป แต่กลับเพิ่ม สร้างสีสรรและคุณค่าใหม่ให้อย่างน่าทึ่ง การถ่ายทอดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้เด็ก ๆ ได้ “เข้าใจ” นั้นทั้งยากและท้าทายบนบริบทใหม่ของสังคมแห่งโลกดิจิตอล ซึ่งอาจเป็นบทพิสูจน์ใหม่อันหนึ่งในชีวิตของการเป็นผู้แสวงหาและถ่ายทอดความรู้ในหน้าที่ของการเป็นครูบาอาจารย์ต่อสังคมไทย

แต่ก่อนอื่นคงต้องลดความทะยานอยาก รู้จัก “พอ” และหันกลับมาทบทวน “ความพอเพียง” ที่แฝงอยู่ใน “หลักปรัชญา” ก่อน

ภาระกิจการเดินทางเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยที่เชียงรายและลากยาวต่อเนื่องมาถึงการต้อนรับคณะเด็กน้อยและคุณครูจากพิษณุโลกจะสำเร็จลงมิได้เลยในการทำงานเป็น “ทีม” ที่นำโดย รศ.ดร.มณี และยังมีส่วนของทีมใน กรุงเทพฯ ประกอบด้วย ป้าเฟิร์น น้าแมลงปอ และน้าเอ้ ที่ทำให้ทัพหน้าทำงานแบบไม่ต้องห่วงหลัง…

เสียงเปียโนสุดท้ายของเพลง “แสงเทียน” จบลง…. ความคิดอ่านในใจยังไม่จบ หัวใจกลับพองโตด้วยศรัทธาและความหวัง…. ที่ยังมีดุจแสงเทียนส่องนำทาง

#ตลาดชุมชนฟาร์มกวาง #สถานที่แห่งการเรียนรู้ #ทุกวันหยุดคือวันครอบครัว #กิจกรรมมากมาย #ขนมไทย #ขนมโบราณ #มุมถ่ายรูปเก๋ๆ #หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง #ระเบิดจากข้างใน #แบ่งโลกนี้ให้เท่าเทียมกัน #ขาดทุนคือกำไร #สุโขทัย #เศรษฐกิจชุมชน #เศรษฐกิจฐานราก #สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง #หอปรัชญารัชกาลที่9

วีดีโอบรรยากาศ

วีดีโอบรรยายกาศ 1

วีดีโอบรรยายกาศ 2

วีดีโอบรรยายกาศ 3

 

การทำปุ๋ยมูลไส้เดือนจากมูลกวาง เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่สอดคล้องกับแนวคิด BCG Economy ที่ฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง

3 มีนาคม 2566
(4 ชั่วโมง ก่อนไฟป่าจะเข้าประชิดรั้วฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง)

การทำปุ๋ยมูลไส้เดือนจากมูลกวาง เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่สอดคล้องกับแนวคิด BCG Economy ที่ฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหงตั้งใจไว้นั้น มิได้มุ่งเน้นการค้าขาย แต่ต้องการใช้มูลกวางที่มีปริมาณมากให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนในช่วงเวลาต่อจากนี้…

ปุ๋ยมูลไส้เดือนจากมูลกวาง อาจไม่ใช่ปุ๋ยที่เร่งการเจริญเติบโตของพืชอย่างรวดเร็วทันใจเหมือนปุ๋ยเคมีหรืออาหารของพืชที่ปลูกแบบไร้ดิน แต่มีคุณสมบัติการเพิ่มจุลลินทรีย์ที่จำเป็นต่อระบบนิเวศของดินให้ระบบของธรรมชาติทำงาน… สร้างความร่วนซุย และมีธาตุอาหารที่พืชใช้ประโยชน์ได้ทันทีอยู่พอสมควร

ลุงธง… (ธงชัย) เป็นศิษย์เก่ารัฐศาสตร์รามคำแหงที่มีบุคลิกพิเศษในความซื่อตรงและแข็งกร้าวดุจไม้บรรทัด แต่มีความอ่อนไหวทางอารมณ์เหมือนยอดหญ้า… เป็นคนที่ศึกษาการเพาะเลี้ยงไส้เดือนโดยไม่ต้องมีพื้นฐานทางชีววิทยาเลยแม้แต่น้อย มีเพียงความมุ่งมั่นที่จะทำงานที่ได้มอบหมายให้สำเร็จลุล่วงเท่านั้น

ความแข็งกร้าวของลุงธง กลับสามารถสอดประสานกันได้อย่างน่าประหลาดกับความอ่อนไหวและนุ่มนวลของไส้เดือน เด็กน้อยถึงแม้จะเป็นเด็กต่างจังหวัด บางคนกลับมีวิถีชีวิตแบบ “คนเมือง” ตามสังคมโลกาภิวัฒน์ ไม่ค่อยมีโอกาสคลุกขี้ดินขี้โคลนมากนัก

แต่ในวันนี้ไส้เดือนตัวน้อยในความดูแลของลุงธง อาจได้ทำหน้าที่ “ดึง” เด็ก ๆ ให้กลับมาสนใจผืนดินที่เขาเหยียบยืน จุดประกายความคิดบางอย่าง ได้มีโอกาสนำปุ๋ยมูลไส้เดือนจากมูลกวางไปใส่ต้นไม้แปลงผักในฟาร์มกวาง เป็นการถ่ายทอด “หลักปรัชญาแห่งความพอเพียง” โดยการ “สัมผัส” ด้วยใจและมือของตัวเอง…..

โปรดติดตามตอนต่อไป….

#ตลาดชุมชนฟาร์มกวาง #สถานที่แห่งการเรียนรู้ #ทุกวันหยุดคือวันครอบครัว #กิจกรรมมากมาย #ขนมไทย #ขนมโบราณ #มุมถ่ายรูปเก๋ๆ #หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง #ระเบิดจากข้างใน #แบ่งโลกนี้ให้เท่าเทียมกัน #ขาดทุนคือกำไร #สุโขทัย #เศรษฐกิจชุมชน #เศรษฐกิจฐานราก #สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง #หอปรัชญารัชกาลที่9 #ปุ๋ยมูลไส้เดือน

ชมคลิปวีดีโอบรรยากาศกิจกรรมให้ความรู้ด้านล่างนี้

คลิปวีดีโอกิจกรรมให้ความรู้

ขนมแดกงา…ขนมโบราณ

3 มีนาคม 2566
(4 ชั่วโมง 34 นาที ก่อนไฟป่าจะเข้าประชิดรั้วฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง)

ขนมแดกงา… โดยลุงเคน

ขนมแดกงา ข้าวแดกงา ข้าวปุกงา ข้าวหนึกงา ล้วนเป็นขนมโบราณที่มีกำเนิดมาจากข้าวเหนียวนึ่ง นำมาตำด้วยครกไม้ตำข้าวแบบวิถีชีวิตชาวบ้านจากอดีตสืบทอดต่อกันมา แล้วคลุก (แดก) ด้วยงาดำคั่วบดและเกลือ เป็นอาหารที่ชาวบ้านกินกันมาหลายชั่วอายุ และมีการประยุกต์นำมาใส่ไส้มะพร้าวกวนเพื่อเพิ่มรสชาติ….

ขนมแดกงาของคุณป้าคนหนึ่ง ที่เคยนำมาขายในตลาดชุมชนฟาร์มกวาง ทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวการดำรงชีวิตที่ “เป็น” อยู่แล้วของ “ปรัชญาแห่งความพอเพียง” ในชีวิตและครอบครัวของคุณป้า รวมถึงอีกหลาย ๆ ชีวิตในจังหวัดสุโขทัย… ที่เรียบง่าย มีความสุขตามอัตภาพ และอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิด ที่นับวันตั้งตารอคอยคนรุ่นใหม่ หวนคืนกลับมาดูแล…

ลุงเคน… (พี่เคน) ทำหน้าที่สื่อสาร กระบวนการเกิดของขนมโบราณชนิดนี้ด้วยใจ… ความสุขของลุงเคนนั้นหลบซ่อนอยู่ภายใต้แววตาที่มองเห็นเด็กตัวน้อยกำลังตำข้าว ปั้นก้อนข้าวเหนียวคลุกงา และกินอย่างเอร็ดอร่อย เสียงหัวเราะ คงบรรเทาความทุกข์กังวลจากหน้าที่การงาน (ที่ไม่ปกติธรรมดา) ลงไปได้บ้าง…

ขณะนี้ ขนมแดกงาและลุงเคน ได้ทำหน้าที่ของมันในกิจกรรมที่พยายามสื่อหลัก “ปรัชญาแห่งความพอเพียง” ออกไปได้ตามครรลองแล้ว….

โปรดติดตามตอนต่อไป….

#ตลาดชุมชนฟาร์มกวาง #สถานที่แห่งการเรียนรู้ #ทุกวันหยุดคือวันครอบครัว #กิจกรรมมากมาย #ขนมไทย #ขนมโบราณ #มุมถ่ายรูปเก๋ๆ #หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง #ระเบิดจากข้างใน #แบ่งโลกนี้ให้เท่าเทียมกัน #ขาดทุนคือกำไร #สุโขทัย #เศรษฐกิจชุมชน #เศรษฐกิจฐานราก #สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง #หอปรัชญารัชกาลที่9 #ขนมแดกงา

ชมคลิปวีดีโอได้ที่ลิ้งด้านล่างนี้

คลิปกิจกรรมทำขนมแดกงา

คลิปกิจกรรมทำขนมแดกงา2

คลิปกิจกรรมทำขนมแดกงา3

คลิปกิจกรรมทำขนมแดกงา4

เด็ก ๆ คณะครู และผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่า ต.บ้านป่า อ.เมือง จ.พิษณุโลก ร่วมร้อยชีวิต เข้าเยี่ยมชม ฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง จ.สุโขทัย

3 มีนาคม 2566
(5 ชั่วโมง 4 นาที ก่อนไฟป่าจะเข้าประชิดรั้วฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง)

เด็ก ๆ คณะครู และผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่า ต.บ้านป่า อ.เมือง จ.พิษณุโลก ร่วมร้อยชีวิต เข้าเยี่ยมชม ฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง จ.สุโขทัย โดยมีนายก อบต. เมืองเก่า และคณะ ร่วมประสานงานและให้การต้อนรับ…

นี่คงแสดงให้สังคมเห็นถึง ผลผลิต (output) ผลลัพธ์ (outcome) และผลกระทบ (impact) อย่างชัดเจน จากการที่หน่วยงานให้ทุนต่าง ๆ ไล่เรียงมาจากอดีตตั้งแต่ทุนสนับสนุนของมหาวิทยาลัยรามคำแหง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จวบจนกระทั่ง สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และหอปรัชญารัชกาลที่ 9 ให้โอกาสกับฟาร์มกวางฯ ได้สร้างจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในการช่วยเหลือ ส่งเสริม กระตุ้นการเคลื่อนตัวของเศรษฐกิจชุมชนที่ฐานรากอย่างแท้จริง…

คงไม่มีคำรวบรัดใด ๆ ที่สามารถบรรยายความสุข ความสนุก และ “แววตาแห่งการอยากรู้อยากเห็น” ของเด็กน้อยได้หากท่านมิได้มาเห็นและสัมผัสด้วยตัวเอง

อีกทั้งยังเป็นความท้าทายของทีมวิจัยจากฟาร์มกวางเป็นอย่างมากในการ “จับประเด็น” จากงานวิจัยที่ผ่านมา “ผสมผสาน” กับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” กลั่นออกมาเป็นการถ่ายทอดให้เด็กน้อย “เข้าใจ” ความพอเพียงบนยุคสมัยที่เขาเกิดมาพร้อมมือที่กำลังกำ mobile phone และสนุกอยู่กับมัน เราจึงใช้การสื่อสารและบอกกล่าวเรื่องราวผ่านทางกิจกรรมที่เป็นตัวแทนหนึ่งของชีวิตผู้คนใกล้ ๆ ตัวในชุมชน โดยผสมผสาน “อัตลักษณ์” ของฟาร์มกวางเข้าไว้ด้วยกันดังที่จะขอบอกเล่าเรื่องราวแยกเป็นตอน ๆ ไป…ดังต่อไปนี้…
ขนมแดกงา… โดยลุงเคน
เรื่องของไส้เดือน… โดยลุงธง
การใกล้ชิดน้องกวาง… โดยน้าจอม
และสุดท้าย คือบทสรุปแห่งความพอเพียง

โปรดติดตามตอนต่อไป….

#ตลาดชุมชนฟาร์มกวาง #สถานที่แห่งการเรียนรู้ #ทุกวันหยุดคือวันครอบครัว #กิจกรรมมากมาย #ขนมไทย #ขนมโบราณ #มุมถ่ายรูปเก๋ๆ #หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง #ระเบิดจากข้างใน #แบ่งโลกนี้ให้เท่าเทียมกัน #ขาดทุนคือกำไร #สุโขทัย #เศรษฐกิจชุมชน #เศรษฐกิจฐานราก #สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง