จากปัญหาในหลาย ๆ ด้านในเรื่องของสายพันธุ์กวางพื้นเมืองของไทย จึงสรุปที่สายพันธุ์กวางจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นกวางเมืองร้อนเหมือนกวางในประเทศไทย มีอัตราการผลิตของผลผลิตที่ไม่แตกต่างกันมากนัก คือ
- กวางรูซ่า (Rusa Deer, Cervus timorensis) มีถิ่นกำเนิดเดิมในประเทศอินโดนีเซีย นำเข้ามาเลี้ยงจากประเทศออสเตรเลีย เมื่อมาอยู่ในประเทศไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ เพราะภูมิประเทศและภูมิอากาศค่อนข้างแตกต่างกัน แต่ด้วยสภาพที่เป็นธรรมชาติและการจัดการที่เหมาะสมทำให้กวางปรับสภาพได้ค่อนข้างรวดเร็ว และจัดการดำเนินการผสมพันธุ์
- กวางซิก้า (Sika deer, Cervus nippon) เป็นกวางพื้นเมืองของประเทศเวียดนาม นำเข้ามาหลังจากนำกวางรูซ่ามาเลี้ยงได้ไม่นาน เป็นกวางที่นิยมเลี้ยงเพื่อตัดเขา ซึ่งเขากวางอ่อนชนิดนี้นิยมนำไปทำเป็นเครื่องยาจีนโบราณ และนำเขากวางอ่อนมาแปรเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุแคปซูล กวางชนิดนี้มีนิสัยค่อนข้างเชื่อง มีสีสวยงาม เหมาะที่จะเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อเน้นเป็นฟาร์มเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้อีกด้วย
- กวางแดง (Red deer, Cervus elaphus) เป็นกวางพื้นเมืองของทวีปยุโรป นำมาทดลองเพาะเลี้ยงในสภาพแวดล้อมของเขตร้อน ด้วยการจัดการที่ต้องปรับให้เหมาะสมในหลาย ๆ ด้าน จุดประสงค์เพื่อต้องการนำมาปรับปรุงสายพันธุ์กวางในฟาร์มเพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิตจากฟาร์มกวางให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต
การเลี้ยงกวางที่ฟาร์มกวาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย ในทางด้านวิชาการมีการจัดเก็บข้อมูลการเลี้ยง ชีววิทยาของกวางทั้งสามสายพันธุ์ การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ของกวาง การปรับปรุงพัฒนาอุปกรณ์ วิธีการเลี้ยง (นวัตกรรมใหม่เพื่อการเลี้ยงสัตว์) และการจัดการให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา ส่วนทางด้านสภาพแวดล้อมค่อนข้างจะเป็นอุปสรรคพอสมควร เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศค่อนข้างมาก อากาศร้อนอบอ้าว เกิดสภาพการขาดแคลนน้ำที่จะใช้ในการเลี้ยงกวาง และน้ำที่ใช้เพื่อรดแปลงหญ้าอาหารกวาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อพืชอาหารอื่น ๆ ที่เป็นอาหารเสริม ซึ่งต้องจัดซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง
ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ เริ่มดำเนินการวิจัยในโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์จากกวางที่มีต่อสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงของร่างกายสิ่งมีชีวิต เพื่อเข้าถึงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์จากกวางในแง่ของการพิสูจน์ทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์และการวิเคราะห์ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ นอกเหนือจากการเล่าขานสรรพคุณนับเนื่องกันมามากกว่าพันปี
๑. โครงการเพาะและขยายพันธุ์กวางในกรงเลี้ยง (๒๕๔๔-๒๕๔๕) (โครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว)
๒. โครงการการกำหนดมาตรฐานเกรดเขากวางอ่อนโดยใช้ระดับฮอร์โมน IGF-1 และฮอร์โมน Testosterone (๒๕๔๗-๒๕๔๙) (โครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว)
๓. ชุดโครงการวิจัยผลิตภัณฑ์จากฟาร์มกวางของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม (๒๕๔๗-๒๕๕๐) (โครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว) ประกอบด้วย ๔ โครงการย่อย
๔. โครงการวิจัยผลของเขากวางอ่อนต่อสรีรวิทยาการสืบพันธุ์และพฤติกรรมทางเพศในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (โครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว)
๕. โครงการวิจัยการตรวจหาปริมาณและองค์ประกอบด้านโภชนาการของเขากวางอ่อนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เขากวางอ่อนของมหาวิทยาลัยรามคำแหงสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรม (โครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว)
๖. โครงการวิจัยการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของอาหารที่ใช้เลี้ยงกวางในโครงการจัดทำฟาร์มกวางของมหาวิทยาลัยรามคำแหง (โครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว)
๗. โครงการวิจัยการทดสอบองค์ประกอบด้านโภชนาการในผลิตภัณฑ์จากกวางที่มีต่อระบบสืบพันธุ์ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (โครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว)
๘. ชุดโครงการการศึกษาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์จากกวางต่อการเพิ่มและฟื้นฟูสมรรถภาพของพ่อพันธุ์หนูขาวที่ปลดระวาง (๒๕๔๘ -๒๕๕๐) (โครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว)
๙. โครงการการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันและเรื้อรังของเขากวางอ่อนในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (พ.ศ. ๒๕๕๐ – พ.ศ. ๒๕๕๑) (โครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว)
๑๐. โครงการวิจัยเพื่อการปรับปรุงพันธุ์กวางเศรษฐกิจในประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๕๑ – พ.ศ. ๒๕๕๔) (โครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว)
๑๑. โครงการพัฒนาเทคนิคและมาตรฐานของการผสมเทียมกวาง (กำลังดำเนินการ)
๑๒. โครงการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง (กำลังดำเนินการ)
๑๓. โครงการพัฒนาฟาร์มกวางต้นแบบในประเทศไทย (กำลังดำเนินการ)
๑๔. โครงการจัดการทุ่งหญ้าและป่าเสื่อมโทรมเพื่อการเลี้ยงกวางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน (กำลังดำเนินการ)