บทบาทใหม่ต่อจากนี้ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงคือใช้การวิจัยที่ได้ข้อเสนอโครงการวิจัยที่มาจากความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริงเพื่อนำพาสังคมด้วยองค์ความรู้ ส่งเสริม พัฒนาและทำงานไปด้วยกันกับผู้คนในสังคมและชุมชนเพื่อวัตถุประสงค์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือการเป็น… “มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน”

21 มีนาคม พ.ศ. 2568

แผนงานเสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการแผนงานและโครงการด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับสถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน ในครั้งนี้ได้มีโอกาสร่วมงานกับสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดให้มีการเสวนาวิชาการ เพื่อสร้างข้อเสนอการวิจัยที่เป็นความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

ในงานเสวนาในครั้งนี้ ปรับรูปแบบใหม่โดยมีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม นวัตกรรม ประเด็นทางสังคม การสาธิตกระบวนการผลิตสินค้าต่าง ๆ แม้แต่การแสดงหนังตะลุงที่ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นการ Talk Show สลับกับการพูดคุยทีละประเด็น ครอบคลุมทั้ง วัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ โดยหวังปักหมุดหมายสำคัญที่นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางก่อน แล้วกระจายตัวออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียง

ความท้าทายใหม่ของสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา คือ การนำพาสังคมและชุมชนด้วยวิจัยและนวัตกรรม

บทบาทใหม่ต่อจากนี้ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงคือใช้การวิจัยที่ได้ข้อเสนอโครงการวิจัยที่มาจากความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริงเพื่อนำพาสังคมด้วยองค์ความรู้ ส่งเสริม พัฒนาและทำงานไปด้วยกันกับผู้คนในสังคมและชุมชนเพื่อวัตถุประสงค์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือการเป็น…

“มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน”

งานเสวนาครั้งนี้…
จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดบุคคลสำคัญที่บริหารจัดการและใส่ใจในรายละเอียดและทำงานอยู่เบื้องหลังทุก ๆ รายละเอียด คือ รองศาสตราจารย์ ดร. มณี อัชวรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน

ความกระตือรือร้น และความร่วมมืออย่างเต็มที่ของท่านรองอธิการบดีสาขาฯนครศรีธรรมราช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เดมีย์ ระเบียบโลก

กำลังแรงและหัวใจจากทีม….
ดร. ยิ่งยง เมฆลอย รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันวิจัยและพัฒนา
คุณจิตรภานุ อินทวงศ์
(พี่เคน) หัวหน้า สนง.เลขา สวพ.
คุณเฉลิมพล แก้วกัลปพฤกษ์ (น้องเอ้)
คุณจักรพงษ์ พรหมคง (น้องจอม)
และ ทอง นกขุนทองตัวน้อยของท่านอาจารย์มณี ที่ขึ้นเหนือล่องใต้ไปด้วยกันพร้อมร้องเพลงให้พวกเราฟังตลอดทุก ๆ เส้นทาง

ขอบคุณ
– ปราชญ์ชาวบ้าน และองค์การบริหาร และการศึกษาส่วนท้องถิ่น
– ทีมนักวิจัย (หน่วยกล้าตาย😄)
– เจ้าหน้าที่ของสาขาวิทยบริการฯ จังหวัด นครศรีธรรมราช ที่แข็งขัน

สุดท้าย กำลังใจที่สำคัญจาก..

ท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหงผู้ช่วยศาสตราจารย์
วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์และท่านรองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน
รองศาสตราจารย์นพคุณ คุณาชีวะ และทีมผู้บริหาร ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทุกท่าน

ขอบคุณทุก ๆ ท่าน ด้วยหัวใจครับ…

#มหาวิทยาลัยรามคําแหง #สถาบันวิจัยและพัฒนา #สถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน #มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน #สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัดนครศรีธรรมราช #นครศรีธรรมราช


















20 มีนาคม พ.ศ. 2568 (ก่อนวันเริ่มงานเสวนา…)

20 มีนาคม พ.ศ. 2568 (ก่อนวันเริ่มงานเสวนา…)

แผนงานเสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการแผนงานและโครงการด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับสถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน ในครั้งนี้ได้มีโอกาสร่วมงานกับสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดให้มีการเสวนาวิชาการ เพื่อแสวงหาความต้องการของชุมชน มุ่งสู่การเป็น #มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน

การกลับมานครศรีธรรมราชในครั้งนี้…
เป็นความท้าทายใหม่ในการวิจัยของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ผู้นำสูงสุดในองค์กร ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รองศาสตราจารย์นพคุณ คุณาชีวะ และทีมผู้บริหาร มีโอกาสตระเวณไปกับทีมอาจารย์นักวิจัย เก็บข้อมูลในพื้นที่ตำบลปากพูน

ได้รับทราบเรื่องราวต่าง ๆ หลากหลายมิติ ในมุมที่ต่างออกไป ทีมอาจารย์นักวิจัยได้มีโอกาสพบและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเบื้องต้น ได้รู้สุขทุกข์ อารมณ์และความรู้สึก ในการนำไปวิเคราะห์และสกัดออกมาเป็นโจทย์ในการสร้างข้อเสนอการวิจัยที่เป็นความต้องการของสังคมและชุมชนอย่างแท้จริง

และเป็นช่วงเวลาที่ศิษย์เก่าได้บอกเล่า… เรื่องราวของตัวเองหลังจากจบการศึกษาออกไปจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง “มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน”

#มหาวิทยาลัยรามคําแหง #สถาบันวิจัยและพัฒนา #สถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน #มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน #สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียติจังหวัดนครศรีธรรมราช #นครศรีธรรมราช












 

 

 

 

 

 

แผนงานเสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการแผนงานและโครงการด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับสถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน ในครั้งนี้ได้มีโอกาสร่วมงานกับสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา

4 มีนาคม พ.ศ. 2568

“…จะมีกี่คน…ๆ …เป็นทุกข์แทนคนอื่น…”

ท่อนนึงของเพลงจากคุณแอ๊ดคาราบาว ดังอยู่ในรถ ตอนตีสี่ครึ่ง ขณะขับออกกรุงเทพมหานคร มุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา…

แผนงานเสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการแผนงานและโครงการด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับสถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน ในครั้งนี้ได้มีโอกาสร่วมงานกับสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา จัดให้มีการเสวนาวิชาการ เพื่อแสวงหาความต้องการของชุมชน มุ่งสู่การเป็น #มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน

ได้รับเกียรติจากผู้นำชุมชน ภาคส่วนงานราชการ ผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการ ทั้งจากอำเภอเมือง อ.โชคชัย อ.ปักธงชัย อ.ครบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง มาบอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่ ให้กับพวกเรารับฟัง เพื่อนำมาสังเคราะห์เป็น “โจทย์วิจัย“ ที่เกิดจากความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

ได้รับรู้เรื่องราวหลาย ๆ เรื่องที่น่าชื่นชมในความร่วมมือของคนในชุมชน เรื่องราวที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน เรื่องราวของทรัพยากรท้องถิ่นสำคัญบางอย่างที่สูญหายไป เรื่องราวที่น่าสนใจในการใช้ และการจะนำมาต่อยอดโดยการใช้ ”การวิจัย“ เป็นกลไกช่วยเหลือชุมชนในนามของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ด้วยเวลาที่มีไม่มากนักในช่วงบ่าย ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนในชุมชน เพื่อเก็บข้อมูลและรายละเอียดบางอย่างจากผู้ประกอบการที่นำผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นที่ต้องใช้ทั้งทรัพยากรบุคคลและผลผลิตต่าง ๆ ตลอดทั้งห่วงโซ่ และเราได้เห็นภาพทั้ง Output, Outcome และ Impact หากเราได้สร้างข้อเสนอโครงการวิจัยดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ตามวัตถุประสงค์ของแผนงานฯ

” …. เรารอความหวังจากอาจารย์อยู่นะ …“

เป็นประโยคสุดท้ายก่อนพวกเราเดินทางกลับ ยังดังวนเวียนในห้วงความคิดตลอดเส้นทางขับรถกลับ กทม.

ขอบคุณ…

ผู้นำชุมชน และผู้บริหารส่วนราชการทุกท่าน
เจ้าหน้าที่ของสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ทุกท่าน
ขนมเค๊กกล้วยหอมอันแสนอร่อยจากความตั้งใจทำเองของท่านรองอธิการบดีฯ สาขาฯ นครราชสีมา 😄
พขร. และท่านคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ที่อนุเคราะห์รถตู้ในการเดินทาง
คณบดีและรองคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์
ประธานสภาคณาจารย์
อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์และวิทยาศาสตร์
รอง ผอ. สถาบันวิจัยและพัฒนา น้องเอ้และพี่เคน
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน (ที่เป็นแม่งาน)

พวกเราเดินทางกลับ กทม. ด้วยโจทย์วิจัยซึ่งจะนำมาพัฒนาเป็นข้อเสนอโครงการ ที่จะสร้างประโยชน์ในชุมชน ด้วยหัวใจที่ ”เป็นทุกข์แทนคนอื่น…“ ….แล้ว 😄

#มหาวิทยาลัยรามคําแหง #สถาบันวิจัยและพัฒนา #สถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน #มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน #สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียติจังหวัดนครราชสีมา #โคราช

เข้าหน้าแล้งแล้วจริง ๆ

เข้าหน้าแล้งแล้วจริง ๆ

สิ่งที่น่ากังวลที่สุดสำหรับฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหงในช่วงหน้าแล้งคือ #ไฟป่า ที่ล้วนเกิดจาก “คน” ในทุก ๆ ปี มักจะถูกโจมตีจากฝั่งริมถนนสาย สุโขทัย-ตาก ที่ผ่านหน้าฟาร์ม แต่เพื่อความไม่ประมาทเราได้ทำแนวกันไฟไว้รอบพื้นที่ฟาร์มฯ กว่า 200 ไร่ ด้วยแรงเจ้าหน้าที่ประจำ 1 คน และที่มาจากส่วนกลาง 1 คน คนงานเลี้ยงกวาง 2 คน รวมถึง “มอม” 🐕 สุนัขไทยอายุกว่า 10 ปี ผู้ซื่อสัตย์ อีก 1 ตัว 😄 รวม 5 ชีวิต มีไม้กวาดเป็นอาวุธครบมือ 😅

สิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติคือ การตรวจแนวกันไฟ และคอยกวาดใบไม้ที่หล่นตามแนวออก เป็นงานที่นอกเหนือจากงานประจำ

ระหว่างทางที่แห้งแล้ง ยังพอได้ชื่นชมความสวยงามของดอก Cochlospermum vitifolium ดู ๆ ไปคล้าย
สุพรรณิการ์มาก แต่กลีบไม่ซ้อน รวมถึงดอกงิ้ว ที่บานเต็มต้น

ยังเฝ้าระวังรักษาพื้นที่อยู่อย่างเข้มแข็ง ท่ามกลางความร้อนระอุที่กำลังจะเพิ่มขึ้นทุกวัน….

#หาเลี้ยงตัวเอง #แหล่งเรียนรู้การเลี้ยงกวาง #งานวิจัย #ฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง #ก่อนจะกลายเป็นตำนาน #สุโขทัย #ทุกชีวิต #newnormal #เขากวางอ่อน #stayin_alive #staying_alive #ฝึกอบรม #กวาง #กวางรูซ่า #RusaDeer #deer #หน้าแล้ง







 

 

 

 

ชื่อเสียงของ “โรงเหนียวยายศรี” นั้นดังไกลข้ามน้ำข้ามทะเล

11 มกราคม พ.ศ. 2568

แผนงานเสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการแผนงานและโครงการด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับสถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน

ชื่อเสียงของ “โรงเหนียวยายศรี” นั้นดังไกลข้ามน้ำข้ามทะเล เช้าวันเสาร์ที่ 11 มค 68 (วันเด็ก) พวกเราจึงออกจากตัวเมืองไป ตำบลปากพูน อีกครั้ง ตั้งใจไปอุดหนุนขนมของคุณยายอย่างเต็มที่

เมื่อมาถึงก็ไม่ผิดหวัง #เหนียวห่อกล้วย เห็นถึงความตั้งใจในการห่อด้วยใบตอง รสชาติข้าวเหนียวที่คุ้มค่ากับการเดินทางมา และยังมี #ขนมขี้มัน ที่ไม่ได้กินมานานมากแล้วตั้งแต่ยังเด็ก ๆ

เพียงจะไปสวัสดีทักทายคุณยาย แต่กลายเป็นการสนทนาที่มีรสชาติ สนุกสนานมาก…

คุณยายบุญศรี นางนวล อายุ 77 ปี เจ้าของกิจการ “โรงเหนียวยายศรี” เปิดโรงเหนียวเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่บีบบังคับให้การทำข้าวเหนียวห่อกล้วยต้องใช้วิธีส่งแบบ online โดยมี “น้องบัว” หลานสาวที่จบปริญญาโท บริหารธุรกิจ ม.รามคำแหง ของเรา บริหารการตลาดและการจัดส่งสินค้า

คุณยายศรี เปิดร้านที่เป็นบ้านของตัวเอง จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเหนียวห่อกล้วยยายศรี ร่วมกับคนในชุมชน ตกแต่งอย่างง่าย ๆ และยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ ถ่ายทอดการทำขนมให้กับผู้สนใจที่เดินทางมาจากที่ต่าง ๆ

คุณยายศรีเล่าให้ฟังว่า เคล็ดลับของท่านอยู่ที่การ “ใส่ใจ” แม้แต่จำนวนครั้งในการแช่และล้างข้าวเหนียว 😊 คุณยายบอกกับเราว่าจะไม่ยอมลดคุณภาพในการทำขนมลงอย่างแน่นอน ถึงแม้ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจจะทำให้ยอดการขายอาจไม่มากเหมือนช่วงสถานการณ์โควิด-19

คุณยายเป็นคนทันยุคสมัยมาก ๆ เรียนรู้ทุกเรื่อง รู้ถึงปัญหาค่าใช้จ่าย online ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องมีค่า “ยิงแอ็ด” เพื่อให้คนในโลก online เห็นเพจของคุณยายเพิ่มมากขึ้น 😃

หากนักวิจัยท่านใด ต้องการต่อยอดงานวิจัยในเชิงบริหารธุรกิจ ของสินค้าชุมชน หรือแม้แต่ในเชิงมานุษยวิทยา ของประวัติการดิ้นรนต่อสู้ชีวิต ก็เรียนเชิญได้เลยนะครับ

ก่อนกลับ นอกจากจะอิ่มขนม แล้วยังอิ่มอกอิ่มใจอย่างบอกไม่ถูกที่มีโอกาสได้ช่วยเหลือชุมชนในการอุดหนุนผลิตภัณฑ์หลากหลายมากมาย ขอบคุณคุณยายศรีมาก ๆ ครับ

#มหาวิทยาลัยราม
คําแหง #สถาบันวิจัยและพัฒนา #สถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน #มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน

เริ่ม Kick off แล้วกับ แผนงานเสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการแผนงานและโครงการด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับสถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน

9 มกราคม พ.ศ. 2568

เริ่ม Kick off แล้วกับ แผนงานเสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการแผนงานและโครงการด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับสถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน ซึ่งในครั้งแรกนี้ ได้รับความอนุเคราะห์และความร่วมมือจาก สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช… ปักษ์ใต้บ้านเรา

ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นแบบรัวๆๆ 😀 จากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เดมีย์ ระเบียบโลก รองอธิการบดีฯ และเจ้าหน้าที่ของสาขาฯ ทุกๆๆๆๆท่าน

ได้มีโอกาสเสวนากับ “ปราชญ์ชาวบ้าน” หลาย ๆ ท่านของชุมชน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เปิดโลก และมีคุณค่ามาก เพื่อเปิดช่องทางในการร่วมกันสร้าง “โจทย์วิจัย” ให้กับคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่จะมาพบปะกับโจทย์จริงในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2568 นี้ เพื่อใช้การวิจัย นำพามหาวิทยาลัยรามคำแหง มุ่งสู่การเป็น #มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน

ช่วงบ่ายไปเยี่ยมเยือนกลุ่มของคุณป้าแดง จารีย์ เพชรทอง ประธานชมรมใส่ใจผู้สูงวัย และคณะ ที่ชุมชนตำบลปากพูน #ปากพูน ได้มีโอกาสพบกับ นางสาวผกาพันธุ์ เพชรทอง ผอ.โรงเรียนเทศบาลเมืองปากพูน
นางสาวปัทมา สมศักดิ์ พัฒนาชุมชน เทศบาลเมืองปากพูน นายกษิดิ์เดช เจตรุรักษ์ นักสังคมสงเคราะห์ เทศบาลปากพูน ร่วมพูดคุยต่อเนื่องในความร่วมมือกันในการสร้างโจทย์วิจัยร่วมกัน

ได้เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้าน “มโนรา” กับคุณครูศุภชัย รักสกุล กับการอนุรักษ์และพัฒนาให้คงอยู่และหาช่องทางใหม่ในการถ่ายทอดส่งผ่านถึงคนรุ่นใหม่ และอีกหลาย ๆ สิ่ง ที่รอคอยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงของเรา ใน
วันที่ 21 มีนาคม 2568
มาร่วมกันต่อยอดพัฒนากับชุมชนแห่งนี้

ขอบคุณ…
นางจารีย์ เพชรทอง ประธานชมรมใส่ใจผู้สูงวัย
นายทวีรัตน์ ทองมาก นายกสมาคมศิลปกรรมถิ่นใต้
นายศุภชัย รักสกุล หัวหน้าคณะมโนราห์
นางสาวรัชนีกร อักษรถึง เลขาชมรมใส่ใจผู้สูงวัย
นายสืบศักดิ์ จินดานุ กลุ่มเกษตรปลอดภัย แปลงใหญ่
นางจิดาภา ปรีชานุรักภักดิ์ สมุนไพรสำเภาทอง๘๙
นายยศศักดิ์ อาการส
หัตกรรมตีเหล็ก
นางสาวผกาพันธุ์ เพชรทอง ผอ.โรงเรียนเทศบาลเมืองปากพูน
นางสาวปัทมา สมศักดิ์ พัฒนาชุมชน เทศบาลเมืองปากพูน
นายกษิดิ์เดช เจตรุรักษ์ นักสังคมสงเคราะห์ เทศบาลปากพูน

เป็นการเริ่มต้น… ในแผ่นดินถิ่นเกิด ด้วยความรู้สึกที่อบอุ่นมากจริง ๆ 😊

#มหาวิทยาลัยรามคําแหง #สถาบันวิจัยและพัฒนา #สถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน #มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน

เริ่มนำร่องสำรวจความต้องการของชุมชน เริ่มที่ตำบลท้ายสำเภา ที่วัดท้ายสำเภาพบกับกลุ่ม อสม.

10 มกราคม พ.ศ. 2568

แผนงานเสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการแผนงานและโครงการด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับสถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน

เริ่มนำร่องสำรวจความต้องการของชุมชน เริ่มที่ตำบลท้ายสำเภา ที่วัดท้ายสำเภาพบกับกลุ่ม อสม. กำลังมีกิจกรรมเกี่ยวกับการกำจัดยุงลาย และหมอหญิงผู้ที่ศึกษาและให้ความช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยด้วยยาสมุนไพรพื้นบ้าน

กลุ่มผู้ผลิตไม้กวาดที่ทำจากใยโหนด (ต้นโตนด) ด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ที่ผลิตเองด้วยภูมิปัญญา มีความทนทานและใช้งานได้ดีมาก แต่ไม่สามารถผลิตได้ทันกับความต้องการเนื่องจากขาดแรงงานคนผลิต

และสุดท้ายได้มีโอกาสสนทนากับครูทวีรัตน์ ทองมาก นายช่างผู้ผลิตตัวหนังตะลุงจากหนังวัว ซึ่งต้องวาดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยปลายมีด และใช้ตัว “ตุ๊ดตู่” และมีดแกะตามลวดลาย ด้วยทักษะและฝีมือที่หาได้ยาก ที่ สมาคมสืบสานศิลปกรรมถิ่นใต้ ต.ท่าเรือ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ครูบอกกับเราว่า อยากได้คนรุ่นใหม่มารับช่วงทักษะเหล่านี้โดยจะสอนให้โดยไม่คิดเงิน….

ทุกกิจกรรม และอาชีพ ของชุมชนท้องถิ่น ล้วนประสบปัญหาเดียวกันเกี่ยวเนื่องจากเรื่องเศรษฐกิจ แต่ที่น่าหนักใจยิ่งกว่า….. คือการหา “คนรุ่นใหม่” ที่จะสืบทอดให้ดำรงคงอยู่ต่อไปอย่างต่อเนื่องและด้วยจิตวิญญาณอย่างแท้จริง ทุก ๆ ที่พูดไปในทิศทางเดียวกันว่า “….เด็กเดี๋ยวนี้มันไม่เอาสิ่งที่เราทำไว้แล้ว”

และนี่อาจจะเป็นโจทย์วิจัย ที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงของเรานำมาไตร่ตรองช่วยกัน…

#มหาวิทยาลัยรามคําแหง #สถาบันวิจัยและพัฒนา #สถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน #มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน #ตำบลท่าเรือ #ตำบลท้ายสำเภา #หนังตะลุง

เข้าสู่สถานการณ์ของการ #หาเลี้ยงตัวเอง อย่างแท้จริงของฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง

เข้าสู่สถานการณ์ของการ #หาเลี้ยงตัวเอง อย่างแท้จริงของฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง
สำรวจแปลงหญ้าและคอกกวางหมุนเวียนเพื่อปล่อยกวางบางส่วนให้แทะเล็มหญ้าตามธรรมชาติ 🌿🌱🌾 ในช่วงหน้าฝน…

ทำไมดูตะเกียกตะกายจัง… 😅

#ฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง #ตลาดชุมชนฟาร์มกวาง #สถานที่แห่งการเรียนรู้ #หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง #ระเบิดจากข้างใน #แบ่งโลกนี้ให้เท่าเทียมกัน #ขาดทุนคือกำไร #สุโขทัย #เศรษฐกิจชุมชน #เศรษฐกิจฐานราก #ภารกิจใหม่ต่อชุมชน #งานวิจัยชุมชน #มหาวิทยาลัยรามคำแหง #มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน



 

 

 

ในช่วงเวลาเดียวกัน…

ในช่วงเวลาเดียวกัน…

ในวันนี้… สถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ริมแม่น้ำยมของจังหวัดสุโขทัย คงคลี่คลายไปบ้าง แต่ความลำบากของชาวชุมชนต่าง ๆ ยังคงอยู่ พืชผลทางการเกษตร สัตว์เลี้ยง บ้านเรือน รวมถึงอาชีพต่าง ๆ ในพื้นที่ยังคงรอการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐฯ และภาคสังคม…

ฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ก็ได้ช่วยสื่อสาร และเป็นกระบอกเสียง นิทรรศการต่างที่บอกเล่าเรื่อราวผ่านภาพ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในชุมชน รวมทั้งวิดิทัศน์ที่จัดแสดงถึงวิถีชีวิตที่สวยงาม ของคนสุโขทัย วิถีชีวิตที่แสดงถึง “ความพอเพียง” ผ่านแนวทางเศรษฐกิจใหม่แบบ BCG ให้ทุกท่านที่มาชมบูธนิทรรศการ ซึ่งมีทั้งท่านผู้อาวุโส ท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงเด็ก ๆ และเยาวชน

ให้ได้รับทราบเรื่องราวของวิถีชีวิตของชาวชุมชนจังหวัดสุโขทัย ที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน

ขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมเยือน และฝากส่งพลังใจถึงชาวสุโขทัยด้วยครับ….

โรงแรมเซ็นทาราแกรด์ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 22 เพื่อมาจัดบูธนิทรรศการภายใต้ชื่อ “โครงการตลาดชุมชนฟาร์มกวางตามแบบเศรษฐกิจ BCG ที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง“
ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research EXPO 2024)

#ฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง #ตลาดชุมชนฟาร์มกวาง #สถานที่แห่งการเรียนรู้ #หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง #ระเบิดจากข้างใน #แบ่งโลกนี้ให้เท่าเทียมกัน #ขาดทุนคือกำไร #สุโขทัย #เศรษฐกิจชุมชน #เศรษฐกิจฐานราก #ภารกิจใหม่ต่อชุมชน #งานวิจัยชุมชน #มหาวิทยาลัยรามคำแหง #มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน #มหกรรมงานวิจัย2567

 

ภาพบรรยากาศระหว่างการจัดสถานที่ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567

https://www.facebook.com/share/r/q5V22DGoMzP2mG63/?mibextid=UalRPS